เรื่องราวของการจัดงานแต่งงานในญี่ปุ่นปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควร งานแต่งสมัยก่อนมักจัดตามรูปแบบดั้งเดิม เช่น มีพิธีตัดเค้กหรืออ่านจดหมายจากเจ้าสาว แต่คู่บ่าวสาวรุ่นใหม่นิยมจัดงานที่สะท้อนตัวตนและไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากขึ้น มีการเพิ่มเซอร์ไพรส์เข้ามาในงานด้วย อย่างเช่นการขอแต่งงานในช่วงที่เจ้าสาวโยนช่อดอกไม้
การขอแต่งงานแบบนี้จะเป็นการจัดฉากโดยเจ้าบ่าวเจ้าสาวเอง เพื่อให้เพื่อนสนิทหรือญาติพี่น้องมีโอกาสขอแต่งงานในงานของตัวเอง โดยช่วงโยนช่อดอกไม้ เจ้าสาวจะไม่โยนช่อไปเฉยๆ แต่จะส่งให้ผู้หญิงที่ได้วางแผนเอาไว้แล้วโดยเฉพาะ ซึ่งผู้หญิงคนนั้นจะไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยว่ากำลังจะโดนขอแต่งงาน รูปแบบนี้เรียกว่า “ช่อดอกไม้เซอร์ไพรส์ขอแต่งงาน” ซึ่งได้รับทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านจากสังคม
คุณนานะ โอคามูระ เจ้าของร้านวางแผนงานแต่งงาน ได้ให้ความเห็นว่าการจัดเซอร์ไพรส์ในงานแต่งนั้นหากไม่คิดให้ถี่ถ้วนอาจจะสร้างปัญหาได้ เพราะฝ่ายจัดเซอร์ไพรส์มักจะคิดเอาเองว่าอีกฝ่ายจะต้องชอบ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น เจ้าสาวไม่ชอบการร้องไห้แต่เจ้าบ่าวกลับวางแผนให้เธอร้องไห้ หรือทั้งที่บ่าวสาวชอบพิธีแบบจืดๆ เงียบๆ แต่แขกกลับมาร้องเพลงเซอร์ไพรส์ หรือก็จะมีเจ้าสาวประเภทแสดงความรู้สึกไม่เก่งเวลาถูกเซอร์ไพรส์ เป็นต้น
เนื่องจากคนไม่ค่อยระมัดระหว่างถึงความเสี่ยงของการจัดเซอร์ไพรส์ แต่ในขณะเดียวกันภาพถ่ายช่วงเวลาซึ้งๆจากเซอร์ไพรส์ในงานแต่งก็มักถูกแชร์กันในโซเชียลมีเดียอยู่เรื่อยๆ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่างานแต่งที่ดีจะต้องมีเซอร์ไพรส์เท่านั้น จึงไปขอคำแนะนำจากผู้จัดงานว่าอยากทำอะไรให้เจ้าสาวประทับใจบ้าง จะทำอะไรเพื่อแสดงความขอบคุณพ่อแม่ได้บ้าง หรือเอะอะก็จะมาขอแสดงเซอร์ไพรส์ในงานทั้งที่บ่าวสาวไม่รู้เรื่องเลย
ในกรณีแบบนั้น ผู้จัดงานจะพยายามสอบถามเหตุผลว่าทำไมถึงอยากทำเซอร์ไพรส์ หากเห็นว่าอีกฝ่ายลังเลและแนวทางดำเนินการดูไม่รอบคอบพอ ก็จะแนะนำให้กลับไปคิดให้ดีก่อน ถึงอย่างนั้นคุณโอคามูระก็ยังให้ความสำคัญกับความตั้งใจดีๆ ที่อยากให้เจ้าสาวมีความสุขหรืออยากแสดงความขอบคุณอยู่ดี หากดูท่าว่าเจ้าสาวอาจไม่ชอบเซอร์ไพรส์ต่อหน้าแขก ก็อาจให้จัดในห้องรับรองหรือก่อนเข้างานแทนก็ได้
ส่วนประเด็นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การจัดฉากขอแต่งงานระหว่างโยนช่อดอกไม้เจ้าสาวนั้น คุณโอคามูระมองว่ารูปแบบงานแต่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ดังนั้นถึงคนอื่นจะรู้สึกแปลกใจกับความพิเศษนี้ แต่ก็ควรหนักแน่น เคารพและยอมรับในสิ่งที่คู่บ่าวสาวเลือกมากกว่าจะบอกว่าเขาทำผิดเพราะจัดงานประหลาดไม่เหมือนแบบเดิมๆ
ปัจจุบันด้วยกระแสงานแต่งขนาดเล็กและเชิญแต่คนใกล้ชิด จึงอาจจะมีแขกบางคนที่กำลังรอคอยโอกาสขอแต่งงานหรือใฝ่ฝันอยากใส่ชุดเจ้าสาว การที่คู่บ่าวสาวจะอยากใช้งานของตัวเองเป็นโอกาสทำให้ความฝันของคนเหล่านั้นเป็นจริง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก และคนในงานเองก็น่าจะเข้าใจเจตนาเหล่านั้นได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยกอะไร
สำหรับในประเทศไทยนั้น งานแต่งงานดั้งเดิมจะค่อนข้างเน้นพิธีกรรมตามประเพณีและความเชื่อมากกว่า เช่น พิธีหมั้น พิธีไหว้ผู้ใหญ่ พิธีสงฆ์ พิธีรดน้ำสังข์ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวและผู้อาวุโส
อย่างไรก็ตาม งานแต่งสมัยใหม่ของคนไทยก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนบ้างเช่นกัน บ้างก็มีการนำแนวคิดและขั้นตอนแบบตะวันตกมาผสมผสาน จัดในสถานที่แปลกใหม่ หรือเพิ่มสีสันรูปแบบใหม่ๆ เข้าไป เซอร์ไพรส์สไตล์ญี่ปุ่นอย่างการขอแต่งงานตอนช่อดอกไม้ก็น่าสนใจไม่น้อยเลย และถ้าเป็นงานแต่งของตัวเองก็คงอยากให้มีอะไรแปลกใหม่แบบนี้บ้าง
คงต้องคุยและวางแผนกับแฟนให้ดีๆ ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นในงานสำคัญของเรา โดยรวมแล้วคงต้องยอมรับว่าแต่ละคู่มีไลฟ์สไตล์และรสนิยมที่แตกต่างกัน งานแต่งแบบไหนก็สามารถสะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละคู่ได้ในแบบฉบับของตัวเอง
โอคามูระ นานะ. (2024, 20 มิถุนายน). 花嫁のブーケもらった女性に突然プロポーズ、結婚式驚きの演出に賛否. Yomiuri Shimbun. https://www.yomiuri.co.jp/otekomachi/20240620-OYT8T50071/